Probiotics คืออะไร

ไม่กี่ปีมานี้แบคทีเรียดีอย่าง Probiotics (โพรไบโอติกส์) กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้สนใจดูแลสุขภาพ โดย Probiotics เป็นจุลินทรีย์ในร่างกายที่มีชีวิต หากเราสามารถรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเรา แล้ว Probiotics คืออะไร ? ต้องรับประทานอะไรบ้างถึงจะรักษาสมดุลนี้ได้ บทความนี้มีคำตอบ

Probiotics คือ

Probiotics คือ กลุ่มของจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีประโยชน์ อาศัยอยู่ทั่วทั้งร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง เมื่อร่างกายมีจุลินทรีย์ชนิดนี้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ จะสามารถกระตุ้นให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

Probiotics มีกี่ประเภท

Probiotics มีด้วยกัน 3 ประเภท 

  1. แลคโตบาซิลลัส  (Lactobacillus)

ถือเป็นจุลินทรีย์ที่มักได้ยินกันบ่อย ๆ  และเป็นกลุ่มที่พบได้มากในโปรไบโอติก ที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติอย่าง อาหารหมักดอง นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ซึ่งช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย 

  1. แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces boulardii)

ถือเป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มของโปรไบโอติก ที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียหลายรูปแบบ ทั้งท้องเสียในเด็กทารก ท้องเสียจากอาหารแปลกปลอม ท้องเสียเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แต่แซคคาโรไมซิส เป็นโปรไบโอติกชนิดที่ไม่มีอยู่ในร่างกายคนตามธรรมชาติ และจะพบได้ในเครื่องดื่มประเภทชาหมัก

3. ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) 

ไบฟิโดแบคทีเรียมมักพบได้ในอาหารที่ทำมาจากนม และเป็นหนึ่งในจุลินทรีย์โปรไบโอติกที่มีการยอมรับว่าดีที่สุด โดยปกติแบคทีเรียชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามช่องปาก ลำไส้ ที่มีประโยชน์ในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยผลิตกรดไขมัน ช่วยลดการอักเสบได้ แบคทีเรียกลุ่มนี้ยังช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน ท้องเสียจากอาหารแปลกปลอม ไบฟิโดแบคทีเรียมสามารถพบได้ในอาหาร เช่นโยเกิร์ต ผักดอง กิมจิ  มิโซะ

ประโยชน์ของ Probiotics มีอะไรบ้าง

ช่วยรักษาสมดุลในระบบย่อยอาหาร

Probiotic ในกลุ่มของแลคโตบาซิลลัส สามารถช่วยลดภาวะอักเสบของลำไส้ได้ โดยแลคโตบาซิลลัส จะช่วยปรับสภาพรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ลดปริมาณจุลชีพในลำไส้ ที่เป็นสาเหตุของการอักเสบได้ และยังช่วยลดอาการท้องผูกได้

ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

การมีโปรไบโอติกในลำไส้ในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อได้ดี  รวมถึงป้องกันอาการท้องเสียหรือการติดเชื้อในช่องท้องได้ Probiotic ยังช่วยลดการติดเชื้อในส่วนอื่นของร่างกายได้ โดยใช้ทั้งโปรไบโอติกในกลุ่มแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียม เพื่อใช้ปรับสภาพภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียมักพบได้บ่อยทั้งในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ หรือในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กเล็กผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย นำเอาโปรไบโอติก (Probiotic) ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) มาใช้ป้องกัน  และช่วยลดความรุนแรงของภาวะท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษได้ และยังได้ผลดีมากในกลุ่มที่เกิดอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus)

ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือไขมันจำนวนมาก ถือเป็นการเพิ่มสารในกลุ่มไนโตรเจนและอะโรมาติคเอมีนที่ถือเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น หากมีโปรไบโอติกที่ดีในลำไส้เพียงพอ ก็จะสามารถช่วยเปลี่ยนสภาพแบคทีเรียในลำไส้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสารพิษเหล่านี้ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ได้

ทำไมต้องเสริม Probiotics ให้แก่ร่างกาย

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า Probiotics คือ กลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ และสำคัญต่อร่างกาย ถือเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นชนิดหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร หรือที่เรียกว่า Normal Flora ซึ่งหากร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี สมดุลระหว่างจุลินทรีย์ก็จะเป็นปกติ แต่หากมีปัจจัยที่ไปรบกวนความสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย ทำให้จุลินทรีย์ดีประจำถิ่นนั้นถูกรุกราน อาจมีผลกระทบต่อร่างกายตามมาได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ Probiotics ลดลงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

ปัจจัยที่ทำให้ Probiotics ลดลง

  • มีภาวะความเครียดสูง
  • มีภาวะสูงอายุ
  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ 
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท
  • การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็น
  • บริโภคน้ำตาล
  • บริโภคอาหารที่มีการตัดแต่งสารพันธุกรรม
  • บริโภคแป้งที่ผ่านการขัดสี
  • อยู่ระหว่างการรักษาด้วยการให้ยา
  • มีภาวะการขาดการได้รับภูมิต้านทานจากธรรมชาติ
  • รับประทานอาหารที่มีสาร Triclosan, Caffeine, Steroid หรือ Fluoride

แนะนำอาหารที่มี Probiotics

Probiotics พบได้ในอาหารที่ผ่านกระบวนการหมัก เช่น โยเกิร์ตรสธรรมชาติ (ไม่เติมน้ำตาล), กิมจิ, มิโซะ, เทมเป้ และ คอมบูชา เป็นต้น และในปัจจุบันสามารถเลือกรับประทาน Probiotics ในรูปแบบอาหารเสริมได้เช่นกัน ซึ่งจะพบเห็นกันได้หลายรูปแบบ อาทิ โพรไบโอติกส์รูปแบบผงแป้ง, รูปแบบแคปซูล, รูปแบบยาเม็ดแบบเคี้ยว ไปจนถึง Probiotics ที่มาในรูปแบบสารละลาย โดยแต่ละรูปแบบก็จะมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีวิธีการรับประทาน และวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค

จุลินทรีย์ Probiotics นับเป็นหนึ่งส่วนสำคัญของร่างกาย ที่ช่วยปรับสมดุลสุขภาพและช่วยชะลอวัยได้เป็นอย่างดี หากใครที่ต้องการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ให้เหมาะสม นอกจากการดูแลตัวเองเรื่องโภชนาการแล้ว ควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถรักษาสมดุลในร่างกาย ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บได้

Facebook
Twitter
Line